กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท

หนังสือสานพลัง กองทุนสุขภาพตำบล ภาคใต้ตอนล่าง ปี 2559

by twoseadj @30 ส.ค. 59 18:56 ( IP : 14...25 ) | Tags : บทความ-หนังสือ
photo  , 409x591 pixel , 90,431 bytes.

หนังสือสานพลัง กองทุนสุขภาพตำบล ภาคใต้ตอนล่าง ปี 2559 งานถอดบทเรียนเล็กๆแต่เปี่ยมไปด้วยพลังที่ผสานกับความตั้งใจของคณะทำงาน กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น หรือที่เรียกกันติดปากชาวบ้านว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” หรือ “กองทุน สปสช.” เป็นปณิธานสำคัญของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมพงษ์ หมอหงวนผู้ก่อตั้งและเป็นดั่งจิตวิญญาณด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทย สอดคล้องตามหลักการสร้างสุขภาพมิใช่เรื่อง มด  หมอ หยูกยา แต่เป็นเรื่องของชุมชนเองที่ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ริเริ่มการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2549 และได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมเดินเป็นเส้นทางสายอุดมการณ์เดียวกัน เพราะส่วนใหญ่ทำงานด้านสุขภาพได้ดีอยู่แล้ว สอดคล้องตามหลักการกระจายอำนาจและการจัดการสุขภาพของท้องถิ่น

สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ เขต 12 สงขลา มีจำนวน 617 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัด ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีความแตกต่างกันในแง่บริบทของพื้นที่ แต่ก็เป็นถือเป็นความสวยงามของการทำงานด้านสุขภาพ การถอดบทเรียนครั้งนี้มุ่งหวังในการสร้างกำลังใจการทำงาน “บุคคลต้นเรื่อง” ที่ร่วมถ่ายทอดเรื่องราว ตลอดจนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ และประชาชน ที่สนใจในการทำงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่
จากการถอดบทเรียนของพื้นที่ต้นเรื่องสามารถสรุปเกี่ยวกับปัจจัยร่วมที่มีผลต่อความสำเร็จของกองทุน ฯ ดังนี้
1.มุมมอง (Paradigm shift) ของท้องถิ่นต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่  ซึ่งมิได้มองว่าเป็นเพียงแค่เงินที่ สปสช.จัดสรรมาให้ แต่จะมองเป็นเครื่องมือสำหรับการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะของชุมชน จนส่งผลให้ประชาชนร่วมกันสร้างภาพฝันแห่งอนาคตด้านสุขภาวะ ดังปรากฎชัดเจนในรูปของวิสัยทัศน์ และแผนสุขภาพชุมชน
2.ภาวะผู้นำ(Leadership) ของผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นปัจจัยรองลงมาต่อความสำเร็จของการดำเนินงานกองทุนฯ ตลอดจนการมอบหมายงานและความรับผิดชอบแก่เจ้าหน้าที่ ผู้นำหลายพื้นที่เป็นผู้ริเริ่มก่อการในการทำงานด้านสุขภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน ความสนใจและให้ความสำคัญของผู้นำเห็นได้จากการเพิ่มสัดส่วนเงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มากกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำ
3.ข้อมูลสุขภาวะชุมชน (Health Information) เปรียบเสมือน “หางเสือ” เพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกัน แหล่งที่มาของข้อมูลสุขภาพของชุมชนต้นเรื่อง จะมีความคล้ายคลึงกัน คือ ข้อมูลสุภาพ 43 แฟ้มของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) ข้อมูลจำเป็นพื้นฐานของชุมชน (จปฐ.) หรือการลงสำรวจเพิ่มเติมด้วยมือของคนในชุมชนเอง กระบวนการเหล่านี้ จะส่งผลให้กองทุนฯ สามารถตอบสนองปัญหาสุขภาพตรงเป้าหมายมากขึ้น  ดังนั้น ข้อมูลเป็นปัจจัยนำเข้าสำคัญต่อการจัดทำนโยบาย แผนสุขภาพหรือแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์  ปรากฏชัดเจน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ตำบลนาทอน ซึ่งนำกระบวนการสมัชชาสุขาภพเพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพนำมาสู่ ธรรมนูญสุขภาพคนนาทอน ในชื่อ ชันชีนาทอน ชื่อที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและง่ายต่อการจดจำของคนในและนอกชุมชน
4.การสร้างกลไก (system) ที่เอื้อต่อการทำงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ เช่น การตั้งคณะทำงานพิจารณาโครงการ คณะทำงานจัดทำแผนสุขภาพ คณะทำงานติดตามและประเมินผล ที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายทางสังคมในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน
แม้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ จะมีพัฒนาการมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่จำเป็นคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการร่วมกันทำงาน การร่วมสมทบหรือมีกลไกใหม่ๆที่มาช่วยสมทบหรือร่วมลงทุนของชุมชน มุ่งเน้นคุณภาพการทำงาน ส่งเสริมนวตกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพของชุมชน จัดระบบการสนับสนุน (coaching ) เพื่อให้การทำงานกองทุนมีความสนุกมากขึ้น มีเครือข่ายการทำงานร่วมกัน
ถอดบทเรียนฉบับนี้ ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านบทใดก่อนก็ได้ เพราะเนื้อหามิได้ต่อเนื่องกัน และเมื่ออ่านจบแล้วลองนั่งทบทวนเพื่อวิเคราะห์เป็นความคิดรวบยอดของตนเองว่า ชุมชนต้นเรื่องมีปัจจัยอะไรที่สนับสนุนการทำงาน แล้วลองต่อยอดด้วยการมาเติมเต็มการทำงานให้กับกองทุนตนเอง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา ขอขอบพระคุณ ทำงานวิชาการที่ร่วมถอดบทเรียน อันประกอบด้วย คุณนิพนธ์ รัตนาคม คุณมารียา เจ๊ะม๊ะ คุณถาวร คงศรี คุณสมนึก นุ่นด้วง และอาจารย์สุวิทย์ หมัดอะดัม ที่ร่วมกันถอดความและเรียงร้อยเป็นเนื้อหาให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย อ่านสนุก เสียสละทำงานแม้จะมีระยะเวลาที่จำกัดมาก  จนสามารถสำเร็จเป็นหนังสือเล่มนี้