กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท

สปสช.เขต นำเสนอความก้าวหน้าแก้ปัญหาภาวะโภชนาการ 3 จังหวัด

by twoseadj @3 พ.ค. 66 14:47 ( IP : 182...202 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
  • photo  , 1000x563 pixel , 101,090 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 103,837 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 77,777 bytes.
  • photo  , 1000x563 pixel , 73,989 bytes.

วันนี้ (3 พฤษภาคม 2566) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการพัฒนา ชั้น 3 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้อนรับ นายแพทย์วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา และคณะฯ เข้าหารือกับผู้บริหาร ศอ.บต. เรื่องการดูแลแม่และเด็ก ในพื้นที่พิเศษ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอเทพา นาทวี สะบ้าย้อยและอำเภอจะนะ ภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน พร้อมหารือการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่ จชต. ให้เติบโตอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพ โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวง / กรม ผู้อำนวยการกอง ศอ.บต. ร่วมหารือในครั้งนี้
ทั้งนี้ นายแพทย์วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา ได้นำเสนอเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย การใช้สิทธิ 30 บาท รักษาทุกโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าใจถึงบริบทของการรักษาสุขภาพ, ความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการต่ำของเด็กในพื้นที่, ข้อเสนอการดูแลแม่และเด็กในพื้นที่พิเศษ “Sandbox MCH” ปีงบประมาณ 2567 และ ขอให้ ศอ.บต. จัดทำข้อเสนอ “Sandbox MCH” ปีงบประมาณ 2567 แก่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาทุพโภชนาการมีตัวเลขที่เยอะมาก เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสติปัญญาและการเรียนหนังสือ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังอนาคตข้างหน้า เดิมอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของสาธารณสุข พม. เป็นหน่วยรับผิดชอบ แต่พอเห็นภาพเหล่านี้แล้วส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง คิดว่าถึงเวลาแล้วทุกคนต้องร่วมจับมือกัน 2 ปีที่แล้วทาง ศอ.บต. ก็ได้ยกเรื่องเหล่านี้มาเป็นงานวิจัยโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยทั้งสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และที่สำคัญที่สุดก็คือส่วนที่ดูแลเด็กปฐมวัยซึ่งมีหน่วยงานหลักๆ ก็คือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สพฐ. สช. หน่วยงานเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญ จึงได้ระดมความร่วมมือยกเป็นโครงการสำคัญ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งเด็กเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการดูแลเมื่อเติบโตขึ้นมาก็จะไม่สมบูรณ์ และนำไปสู่ปัญหาที่เชื่อมโยงต่อกัน ดังนั้น จะต้องให้องค์กรของรัฐ เห็นความสำคัญและทุ่มเทอย่างจริงจัง ในเรื่องของการดูแลแม่และเด็ก ฉะนั้นทุกองค์กรจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เด็กเล็กในพื้นที่ จชต. สามารถเติบโตได้อย่างมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพต่อไป