กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท

ความเป็นมา กองทุนสุขภาพตำบล

กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (The Community Health Security Fund)"กองทุนสุขภาพตำบล"นับเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญในระบบสุขภาพของประเทศไทย มุ่งเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพของประชาชนจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการประสานหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมค้นหาปัญหาและความต้องการของประชาชน ร่วมวางแผน และส่งเสริมให้เกิดการร่วมดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพ สามารถติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมกับประชาชน

กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ นอกจากมีเจตนารมณ์ในการสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แล้ว  ยังสนับสนุนให้ประชาชนได้แสดงบทบาทในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้แสดงบทบาทในการสนับสนุนประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งนี้ยังส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน สามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเองและการสร้างกลไกในสังคมที่จะต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพให้ลุล่วง

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบทบัญญัติของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา13(3) มาตรา 18(4) (8) (9) และมาตรา 47 ได้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุน ประสาน และกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่ โดยให้ได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุน  รวมถึงสนับสนุนและกำหนดหลักเกณฑ์ให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร ดำเนินงาน และบริหารจัดการเงินทุนในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการ  โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่

การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เริ่มดำเนินการนับตั้งแต่ ได้มีประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ซึ่งในปีแรกมีองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลนำร่องจัดตั้งกองทุนรวม 888 แห่ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการชุมชนในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันติบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งเจ็ดฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการชุมชนในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยเน้นเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิต ตลอดจนส่งเสริมให้กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในเขตพื้นที่ มีสวัสดิการชุมชนรองรับและสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง โดยการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของบุคคลในพื้นที่

เป้าหมายกองทุน


โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานร่วมกัน  ดังนี้

  • ระยะที่หนึ่ง พ.ศ.2547-2550                องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลนำร่องทั่วประเทศ
  • ระยะที่สอง พ.ศ.2551-2552                องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่มีความพร้อม
  • ระยะที่สาม ตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นไป    องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่ผ่านการประเมิน

วัตถุประสงค์กองทุน

ตามประกาศฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2561 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่  เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ หรือสถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่น หรือสนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่มหรือองค์กรประชาชนดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้บุคคลที่อยู่ในพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยส่งเสริมกระบวนการมี ส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่  โดยเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ให้ใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการ หรือกิจกรรม ที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ ดังนี้

(1) เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ หรือสถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุข  โดยเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต เพื่อให้กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
(2) เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มหรือองค์กรประชาชน หรือหน่วยงานอื่น  ได้ดำเนินงานตามแผนงาน หรือโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค  ให้แก่สมาชิกหรือประชาชนในพื้นที่  และกรณีมีความจำเป็นต้องจัดซื้อวัสดุที่มีลักษณะเป็นครุภัณฑ์ให้สนับสนุนได้ในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อโครงการ

วัสดุที่มีลักษณะเป็นครุภัณฑ์ที่จัดหาได้ ให้อยู่ในความดูแลและบำรุงรักษาของกลุ่มหรือองค์กรประชาชนหรือหน่วยงานอื่น ที่ได้รับการสนับสนุนนั้นๆ
(3) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุก ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือศูนย์ชื่ออื่นหรือหน่วยงานที่ดูแล ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาและดูแลเด็กเล็กในชุมชน หรือศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ หรือศูนย์ชื่ออื่นหรือหน่วยงานที่ดูแลดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชน ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
(4) เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารหรือพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 15ของเงินรายรับของกองทุนหลักประกันสุขภาพในแต่ ละปีงบประมาณนั้น และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อซื้อครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ครุภัณฑ์นั้นจะต้องมีราคาไม่เกิน 20,000 บาทต่อหน่วย โดยการจัดซื้อจัดจ้างให้ใช้ระเบียบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยอนุโลม และครุภัณฑ์ที่จัดหาได้ ให้อยู่ในความดูแลและบำรุงรักษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ
(5) กรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้

หลักเกณฑ์การเข้าร่วมกองทุน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(1) มีความประสงค์เข้าร่วมบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ
(2) มีการดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่มาก่อนแล้ว และมีการจัดทำแผนและดำเนินการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ในพื้นที่
(3) มีความพร้อมในการอุดหนุนเงินหรืองบประมาณตามอัตราส่วนที่กำหนด

แหล่งที่มาของเงิน

เงินหรือทรัพย์สินในกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประกอบด้วย
(1) เงินที่ได้รับจัดสรรแต่ละปีจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด และสำหรับปีงบประมาณ 2557  ได้รับการจัดสรรเป็นเงิน 45 บาทต่อประชาชนในพื้นที่หนึ่งคน
(2) เงินสมทบจากเงินอุดหนุนหรืองบประมาณที่ได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
(3)  เงินสมทบจากชุมชนหรือกองทุนชุมชนอื่น
(4) รายได้อื่นๆหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาในกิจการของกองทุนหลักประกันสุขภาพ

การสมทบเงิน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตกลงสมทบเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพ ไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละของเงินที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้ (1) องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
(2) องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 40
(3) องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดใหญ่หรือเทศบาลตำบล สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
(4) เทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น สมทบเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

คณะกรรมการบริหารกองทุน

ให้มีคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในแต่ละท้องถิ่นหรือพื้นที่  ประกอบด้วย (1) ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เป็นประธานกรรมการ)
(2) ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ จำนวน 2 คน (เป็นรองประธานกรรมการ)
(3) สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สภามอบหมาย จำนวน 2 คน (เป็นกรรมการ)
(4) หัวหน้าหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ (เป็นกรรมการ)
(5) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในพื้นที่ ที่คัดเลือกกันเอง จำนวน 2 คน (เป็นกรรมการ)
(6) ผู้แทนหมู่บ้านหรือชุมชนที่ประชาชนในหมู่บ้าน หรือชุมชนคัดเลือกกันเอง จำนวนไม่เกิน 5 คน (เป็นกรรมการ)
(7) ผู้แทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระในพื้นที่ จำนวน 1 คน (ถ้ามี) (เป็นกรรมการ)
(8) ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมอบหมาย (เป็นกรรมการและเลขานุการ)
(9) ผู้อำนวยการหรือหัวหน้ากองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมหรือส่วนสาธารณสุข หรือที่เรียกชื่ออื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมอบหมาย (เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)

ให้สาธารณสุขอำเภอ และ ผู้อำนายการโรงพยาบาลในพื้นที่ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน
การคัดเลือกกรรมการตาม (5) และ (6) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดประชุมเพื่อให้บุคคลในแต่ละกลุ่มได้คัดเลือกกันเองอย่างเปิดเผยและมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่  ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

กรณีในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีหน่วยบริการปฐมภูมิมากกว่า 2 แห่ง ให้นำหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามวรรคสองมาบังคับใช้คัดเลือกหัวหน้าหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ

ให้กรรมการตาม(1) และ(3)-(9) ประชุมคัดเลือกกรรมการตาม(2) จำนวน 2 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ โดยให้คนหนึ่งเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง และอีกคนหนึ่งเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการพร้อมบันทึกรายงานการประชุมคัดเลือก  ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสำนักงานเขตออกคำสั่งแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกองทุนต่อไป

คณะทำงานพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ เขต 12

ตามที่ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๔๗ มุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้ทั่วถึงและมากขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนได้แสดงบทบาทในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้แสดงบทบาทในการสนับสนุนประชาชน การสร้างให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน สามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง และสร้างกลไกในสังคมที่จะต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพให้ลุล่วง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีองค์กรต่างๆในพื้นที่ให้เข้ามาบริหารจัดการระบบสุขภาพร่วมกันอย่างแข็งขัน จนเกิดระบบสุขภาพชุมชนขึ้นในทุกพื้นที่

การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่จะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๙ แต่ยังพบว่า จำเป็นจะต้องมีการเสริมหรือเพิ่มเติมศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานสาธารณสุขระดับอำเภอและจังหวัด โดยเฉพาะประเด็นการปรับกระบวนการคิด มุมมองด้านสุขภาพที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น การจัดทำชุดโครงการด้านส่งเสริมสุขภาพที่ตอบสนองปัญหาสุขภาพ การบริหารจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพ การจัดการเอกสารทางการเงินที่ถูกต้องตามระเบียบราชการ การสร้างกลไกเพื่อการติดตามและพัฒนาศักยภาพของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ เป็นต้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา๒(๕) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงออกคำสั่งไว้  ดังต่อไปนี้

  1. นายยศกร        เนตรแสงทิพย์          ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันตัง จังหวัดตรัง  ประธานคณะทำงาน
  2. ท้องถิ่นจังหวัดตรัง คณะทำงาน
  3. ท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง                 คณะทำงาน
  4. ท้องถิ่นจังหวัดสตูล         คณะทำงาน
  5. ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา คณะทำงาน
  6. ท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี คณะทำงาน
  7. ท้องถิ่นจังหวัดยะลา คณะทำงาน
  8. ท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส คณะทำงาน
  9. นายสมยศ    ฤทธิ์ธรรมนาถ       องค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน จังหวัดสตูล        คณะทำงาน
  10. นายทวี     คงบัน     องค์การบริหารส่วนตำบลนาโยงใต้ จังหวัดตรัง          คณะทำงาน
  11. นายสินธพ  อินทรัตน์ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม  จังหวัดสงขลา คณะทำงาน
  12. นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์        เทศบาลนครปัตตานี จังหวัดปัตตานี         คณะทำงาน
  13. นายมะสดี  หะยิปิ         เทศบาลตำบลท่าสาป จังหวัดยะลา คณะทำงาน
  14. นายสมศักดิ์  สรรเกียรติกุล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง         คณะทำงาน
  15. นายมงคล    สองทิศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง         คณะทำงาน
  16. นางนภาภรณ์  แก้วเหมือน         โรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล                 คณะทำงาน
  17. นายถาวร คงศรี   องค์การบริหารส่วนตำบลนาท่อม จังหวัดพัทลุง         คณะทำงาน
  18. นางนวรัตน์    ศรีไพบูลย์           เทศบาลเมืองคอหงส์ จังหวัดสงขลา คณะทำงาน
  19. นางกัลยทัศน์  ติ้งหวัง    ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จ.สตูล  คณะทำงาน
  20. นางชโลม      เกตุจินดา     สมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา                   คณะทำงาน
  21. นางสาวจุฑา  สังขชาติ  ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จ.สงขลา  คณะทำงาน
  22. นางกัลยา      เอี่ยวสกุล    ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จ.ปัตตานี คณะทำงาน
  23. นายชาคริต      โภชะเรือง     มูลนิธิชุมชนสงขลา จังหวัดสงขลา                     คณะทำงาน
  24. นายรอมซี        สาเละ         สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี         คณะทำงาน
  25. นางสกุลศิริ      ศิริสงคราม เทศบาลตำบลท่าช้าง จังหวัดสงขลา         คณะทำงาน
  26. นายประเทือง    อมรวิริยะชัย  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชะรัด จ.พัทลุง คณะทำงาน
  27. นายนัสรุดดีน    เจ๊ะแน องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส คณะทำงาน
  28. นายอิบรอฮิม    สารีมาแซ      ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์  คณะวิทยาการจัดการ    คณะทำงาน
                                                      มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  29. นางสาวเพ็ญ        สุขมาก สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้         คณะทำงาน
                                      มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  30. นายไพทูรย์      ทองสม มหาวิทยาลัยทักษิณ                         คณะทำงาน
  31. นายปิยะสุวรรณ    ตุ้งแก้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เขต 12 สงขลา    คณะทำงาน
    32.นายสมชาย ละอองพันธุ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เขต 12 สงขลา    คณะทำงานและ
                                                                                                                            เลขานุการ
    ข้อ ๒ ให้คณะทำงานตามข้อ ๑  มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ ๑) การพัฒนานโยบายสาธาณะด้านสุขภาพเกี่ยวกับระบบข้อมูลสุขภาพ แผนสุขภาพหรือธรรมนูญสุขภาพอันเป็นแผนแม่บทของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่เขต 12 สงขลา
    ๒) การพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับเขียนโครงการด้านสุขภาวะเพื่อรับการสนับสนุนผ่านกองทุน และการจัดทำรายงานทางการเงินที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่ขององค์กปกครองส่วนท้องถิ่น
    ๓) การพัฒนาช่องทางสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่
    ๔) การจัดทำชุดความรู้เรื่องรูปแบบของการจัดการระบบสุขภาพระดับพื้นที่ในลักษณะใหม่ และข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ สำหรับพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่


โครงการพัฒนาระบบพัฒนาโครงการกองทุนตำบล ภาคใต้ ผ่านหน้าเว็บไซต์

เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา ร่วมกับ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส. ม.อ.)
ได้ดำเนินการพัฒนาระบบพัฒนาโครงการกองทุนตำบล ภาคใต้ ผ่านหน้าเว็บไซต์นี้ขึ้นมา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาระบบฐานข้อมูลและสร้างแกนนำ (coaching) กองทุนสุขภาพตำบลเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาวะ จัดทำแผนสุขภาพระดับพื้นที่และเขียนโครงการด้านสุขภาวะ และนำชุดโครงการที่ได้มารับการสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพตำบลต่อไป

ติดต่อ/สอบถาม การใช้งานได้ที่..

  • ผู้ประสานงานกองทุนสุขภาพตำบล สปสช.  :  ภ.ก.สมชาย  ละอองพันธุ์ โทร. 086-6940954  Email : somchai.l@nhso.go.th, twoseadj@gmail.com
  • เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ 074-282904
  • คุณสุทธิพงษ์  อุสาหะพงษ์สิน โทร : 08-1818-2543 E-Mail : sutthiphongu@gmail.com  Line ID: 18182543
  • คุณภาณุมาศ นนทพันธ์  โทร : 08-6748-9360 E-Mail : webmaster@softganz.com
  • ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ  โทร : 089-1971917, 074-282900-2

สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.)

ชั้น 10 อาคาร 1 ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (อาคาร LRC) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

โทรศัพท์ 074-282900-2

แผนที่