กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท

อบรมกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานและผลกระทบเรื่องเอดส์แก่ประชาชน

กิจกรรม : อบรมกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานและผลกระทบเรื่องเอดส์แก่ประชาชน
วันที่ 30/07/2019 - 30/07/2019
งบประมาณที่ตั้งไว้ 19,600.00 บาท
กลุ่มเป้าหมาย 70 คน
รายละเอียดกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มแม่บ้าน
อสม.
รายละเอียดกิจกรรม :
1.ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลงทะเบียนพร้อมแฟ้มเอกสาร
2. วิทยากรบรรยายให้ความรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ
3. แบ่งกลุ่มย่อย ระดมความคิด การป้องกันเอดส์ในชุมชน
4. นำเสนอรายกลุ่ม
5. วิทยากรสรุปประเด็นพร้อมเสนอแนะ
- รายละเอียดงบประมาณ
1. ค่าอาหารกลางวันจำนวน 70 คน x 1 วัน X70 บาท เป็นเงิน4,900 บาท
2. ค่าอาหารว่างจำนวน 70 คน x 2 ครั้ง x 25 บาท เป็นเงิน 3,500 บาท
3. ค่าวิทยากร600 บาท x 1 คน x 4 ชั่วโมง x1วันเป็นเงิน2,400บาท
4. ค่าตอบแทนคณะทำงาน200 บาท X 15 คน X 1 วันเป็นเงิน 3,000บาท
5. ค่าแผ่นป้ายไวนิล จำนวน 1 ผืน ราคา 1,000 บาท
6. ค่าวัสดุอุปกร์จำนวน 70 คน X50 บาทเป็นเงิน3,500 บาท
7. ค่าห้องประชุม 1,000 บาท x1 วัน เป็นเงิน 1,000 บาท
8. ค่าผู้ดูแลห้องประชุม 300 บาท X 1วัน เป็นเงิน 300 บาท

ลำดับที่ 1
1.แนะนำ/ ทำความรู้จักวิทยากร แกนนำคณะทำงานเอดส์ในตำบลเขาตูม
ลำดับที่ 2
ชี้แจงวัตถุประสงค์พร้อมนำเสนอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์จังหวัดปัตตานี ประเด็นสำคัญที่ให้ความรู้กับประชาชน พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก่อนจะมีการสาธิต โรคเอดส์คืออะไร?
ท่านคิดว่าท่านมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเอดส์หรือไม่ เพราะอะไร ?
# เอดส์ คือ อะไร ?
# HIV คืออะไร ?
# ผู้ติดเชื้อกับผู้ป่วยเอดส์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
# โรคเอดส์ติดต่อได้กี่ทาง ? ทางใดบ้าง ?
# อาการของโรคเอดส์เป็นอย่างไรบ้าง ?
# โรคเอดส์รักษาได้อย่างไร ?
# มีการควบคุมและป้องกันได้อย่างไรบ้าง ?
# เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครมีเชื้อ หรือไม่มีเชื้อ HIV อยู่ในตัว ?
# เราจะตรวจหาเชื้อ ได้อย่างไร ?
# โรคเอดส์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ? จากคนกลุ่มใด ?
# ท่านคิดว่าโรคเอดส์มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์อิสลามในช่วงใดบ้าง ?




ลำดับที่ 3 สาธิตเกมส์แลกน้ำ (การแพร่ระบาดของ HIV/AIDS)
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
1. เพื่อให้ประชาชนที่เข้าอบรมสามารถอธิบายการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ได้
2. เพื่อให้ประชาชนที่เข้าอบรมตระหนัก " เอดส์ " เป็นภัยใกล้ตัวและทุกคนมีโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อ HIV
3. ประชาชนที่เข้าร่วมอบรมสามารถระบุทางเลือกในการป้องกันเอดส์ที่สอดคล้องกับวิถีอิสลาม
4 .ประชาชนกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และทักษะในการตัดสินใจ

อุปกรณ์/สื่อ
1. กระดาษ ฟลิปชาร์ต
2. ปากกาเคมี
3. ชุดอุปกรณ์เล่นกิจกรรม
3.1 สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ )
3.2 สารละลายฟินอฟทาลีน
3.3 น้ำเปล่า
3.5 ขวดแก้วใส่น้ำจำนวนสองเท่าของผู้เข้าร่วมอบรม
3.6 กระบอกฉีดยาเท่าจำนวนผู้เข้าอบรม
4. แผนผังเพื่อสรุปการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV โดยผ่านการมีเพศสัมพันธ์
ขั้นตอนการจัดกิจกรรม
2.2.2 ขั้นตอนการจัดกิจกรรม
1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมดังนี้
1.1 ใส่สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ลงในขวดแก้ว 1 ใบ
1.2 ใส่น้ำเปล่าลงในขวดแก้วที่เหลือให้ได้ครบตามจำนวนผู้เข้าร่วม นับร่วมใบแรกที่ใส่สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ด้วย
1.3 แยกขวดที่ใส่น้ำเปล่า 4-6 ใบ (ตามจำนวนอาสาสมัคร ) แยกเก็บไว้ต่างหาก
1.4 จัดขวดแก้วที่ใส่น้ำไว้ในถาดวางขวดที่ใส่สารโซเดียมไฮดรอกไซด์รวมอยู่ในถาดด้วย
1.5 เตรียมจำนวนขวดแก้วเปล่าเท่ากับจำนวนผู้เรียนอีก 1 ชุด

2. ชี้แจงกิจกรรม "แลกน้ำ" ให้ผู้เข้าร่วมอบรม
2.1 ขออาสาสมัคร 4-6 คน แจกขวดใส่น้ำที่แยกไว้ 6 ขวดให้ถือไว้คนละ 1 ขวด ให้อาสาสมัครดูดน้ำในขวดประมาณครึ่งกระบอกฉีดยา แล้วนำไปฉีดเก็บไว้ในขวดเปล่าคนละ 1 ขวด จากนั้นแยกขวดน้ำชุดหลังของอาสาสมัครเก็บไว้ต่างหาก ให้อาสาสมัครนั่งรวมกันอยู่ที่ด้านหนึ่งของห้อง
2.2 แจกขวดบรรจุน้ำที่เหลือทั้งหมดในถาดให้กับคนที่เหลือคนละ 1 ขวด บอกให้สังเกตน้ำในขวดตัวเองว่าใส่เหมือนเพื่อนไหม หรือแตกต่างจากของเพื่อนอย่างไร จากนั้นให้ดูดน้ำในขวดของตนประมาณครึ่งกระบอกฉีดยาไปเก็บไว้ในขวดเปล่า 1 คนต่อขวด ไม่ใส่ปนกัน
2.3 เมื่อเก็บน้ำใส่ขวดเปล่าเสร็จแล้ว อาสาสมัครมายืนล้อมวงรวมกัน ให้ฝึกใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำในขวดของตนเองให้คุ้นเคย
2.4 บอกให้อาสาสมัครนั่งสังเกตการณ์อยู่นอกวง ยังไม่ต้องร่วมเล่น
2.5 รอบที่ 1 ให้ผู้เล่นจับคู่กับใครก็ได้ในวง เมื่อจับคู่ครบแล้วให้แต่ละคนดูดน้ำในขวดของตนเองประมาณครึ่งกระบอกใส่ลงไปในขวดของคู่ ให้ใช้กระบอกฉีดยาคนน้ำในขวดของตนเองสังเกตดูว่าน้ำในขวดเปลี่ยนแปลงหรือไม่
2.6 รอบที่ 2-4 ให้ทุกคนในวงจับคู่ใหม่ โดยในแต่ละรอบต้องเปลี่ยนคู่ ไม่ให้ซ้ำคนเดิมที่เคยแลกแล้ว ในแต่ละรอบเมื่อจับคู่ได้แล้วให้แลกน้ำกัน (ทำเหมือนรอบที่ 1 )
2.7 รอบสุดท้ายให้อาสาสมัครทั้ง 4 หรือ 6 คน เข้าร่วมเล่นด้วย โดยให้อาสาสมัครเลือกจะจับคู่กับใครก็ได้ ในวงแต่ห้ามอาสาสมัครจับคู่กันเอง เมื่ออาสาสมัครจับคู่ได้ได้แล้ว ให้ที่เหลือจับคู่กันเองและแลกน้ำกันจากนั้นให้ทุกคนกลับไปนั่งที โดยนำขวดวางไว้ข้างหน้าตัวเอง
2.8 ถามผู้เข้าอบรมว่า “กิจกรรมน้ำใส ๆ หน้าใส ๆ ที่เพิ่งเล่นไป เปรียบเทียบกับเรื่องเอดส์ได้อย่างไรบ้าง จากนั้นผู้ดำเนินการอธิบายเพิ่มเติมว่า การแลกน้ำเป็นการจำลองภาพการมีเพศสัมพันธ์
2.9 ถามต่อว่าการมีเพศสัมพันธ์ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้หรือไม่
2.10 บอกผู้เข้าอบรมว่า การเปรียบขวดน้ำที่ทุกคนถืออยู่กับคน ในสังคมที่มีเพศสัมพันธ์และในวงนี้ มีคนที่มีเชื้อเอชไอวี บอกได้หรือไม่ว่าเป็นใคร ผู้ดำเนินการเปรียบเทียบว่า เราไม่สามารถดูจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ว่า ใครมีเชื้อเอชไอวีเหมือนขวดน้ำใส ๆ ที่เหมือนกันทุกขวด เราบอกไม่ได้ว่าขวดไหนมีสิ่งใดปะปนอยู่
2.11 ถามผู้เข้าอบรมว่า เมื่อดูจากภายนอกไม่ได้ว่าใครมีเชื้อบ้าง วิธีการจะทราบว่าใครมีเชื้อเอชไอวีบ้าง คืออะไร ผู้ดำเนินการสรุปให้เห็นว่า มีเพียงวิธีเดียวที่จะทราบอย่างแน่นอนว่าใครมืเชื้อเอชไอวีบ้าง คือ การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี
2.12 ส่วนในกิจกรรมนี้ เราจะตรวจจากขวดน้ำที่แต่ละคนถือ ถามหาผู้สมัครใจตรวจ แล้วนำสารละลายฟีนนอฟทาลีนหยดใส่ขวดน้ำของผู้ที่สมัครใจตรวจ จากนั้นถามคนที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ให้เชื้อเอชไอวี ให้ถามเจ้าของขวดแรกที่น้ำเปลี่ยนสีว่าคิดได้รับเชื้อมาจากใคร จากนั้นถามคนที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ให้เชื้อต่อไปอีก 2-3 คน คิดว่าได้มาจากใคร ถามคนเหล่านี้ว่าเมื่อขวดแรกเปลี่ยนสีใครคิดว่าขวดของตัวเองจะเปลี่ยนด้วย ต้องการตรวจหรือไม่เมื่อตรวจและพบขวดที่เปลี่ยนสีขวดที่สองให้ไล่ถามแบบเดิมได้รับจากใคร
2.13 บอกผู้เล่นในตรวจทั้งหมดยกเว้นอาสาสมัคร หยดฟินนอฟทาลีนให้ทุกคน สุ่มถามคนที่ขวดน้ำเปลี่ยนสีว่าคิดว่าได้รับมาจากเพิ่มเติมอีก 2-3 คน
2.14 นำสารฟีนนอฟทาลีนมาทดสอบกับขวดอาสาสมัคร ดูว่ามีเปลี่ยนสีหรือไม่ ถามกลุ่มอาสาสมัครว่า อาสาสมัครได้แลกน้ำกี่ครั้ง ย้ำว่าอาสาสมัครได้เล่นเพียงรอบเดียว ถามผู้เข้าร่วมอาสาสมัครในกิจกรรมนี้อาจเป็นตัวแทนของใครหรือพฤติกรรมอะไรบ้าง
2.15 ผู้ดำเนินการสรุปเพิ่มเติมว่า อาสาสมัครซึ่งแลกน้ำเพียงครั้งเดียว เป็นตัวแทนของการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียว เป็นครั้งแรกหรือมีกับคนคนเดียว ซึ่งก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน น้ำในขวดของอาสาสมัครจะเปลี่ยนสีหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าได้แลกน้ำกับใคร
2.16 ถามผู้เข้าร่วมอบรมว่า
- การมีเพศสัมพันธ์กับคนคนเดียว (รักเดียวใจเดียว) รักนวนสงวนตัว (มีเพศสัมพันธ์เมื่อแต่งงาน )ทำห้ปลอดภัยจากเอดส์ได้จริงหรือไม่ ทำไมการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวจึงมีโอกาสติดเชื้อได้
- คิดว่าในชีวิตจริงคนเรามีโอกาสมีเพศสัมพันธ์ กับคนเพียงคนเดียวหรือหลายคน (ถามทั้งชายและหญิง )
2.17 ถามผู้เข้าร่วมอบรมว่า
- ถามผู้เข้าร่วมอบรมว่า คิดวามีขวดตั้งตนที่มีเชื้ออยู่กี่ขวด รู้ไหมว่าเป็นขวดไหน ผู้ดำเนินการเฉลย โดยนำฟินนอฟทาลีนหยดใส่ขวดน้ำที่ทุกคนเก็บน้ำไว้ก่อน เริ่มเล่นจะเห็นว่ามีเพียงขวดเดียวที่เปลี่ยนสี
3. คำถามเพื่อการสรุปและอภิปราย
- ผู้เรียนสามารถที่จะยับยั้งพฤติกรรมที่นำไปสู่การติดเชื้อจากการเพศสัมพันธ์ได้อย่างไรบ้าง?
- ผู้เรียนคิดว่าอาชีพใดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มากที่สุด
- ผู้เรียนรู้สึกอย่างไรถ้าในชีวิตจริงต้องมีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV
4. คำถามอภิปรายสำหรับประเด็นทางศาสนา
- มีคำสอนใดบ้างที่กล่าวถึงเรื่องของการผิดประเวณี
- “เอดส์” เป็นบทลงโทษหรือบทสอบ
- ผู้เรียนสามารถนำหลักการอิสลามใดบ้างมาประยุกต์ใช้เพื่อยับยั้งการผิดประเวณี
5. เนื้อหาและประเด็นทางศาสนาที่สอดคล้องกับกิจกรรม
หลักคำสอนหรับกิจกรรมนี้สามารถสรุปได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคเอดส์นั้นสามารถแพร่กระจายได้ทั้งบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่นทำผิดประเวณี และใช้สารเสพติด ส่วนบุคคลที่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็มีโอกาสได้รับเชื้อ HIV ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงสามารถสรุปหลักการศาสนาได้ 2 ลักษณะดังนี้
- บุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
- บุคคลที่ได้รับผลกระทบ
หลักคำสอนของศาสนาอิสลามสำหรับบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
โดยแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาในรูปแบบที่สวยงามยิ่ง แล้วเราได้ให้เขากลับสู่สภาพที่ตกต่ำยิ่ง นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและประกอบสิ่งดีงามทั้งหลาย โดยที่สำหรับพวกเขาจะได้รับรางวัลอยางไม่มีที่สิ้นสุด
ซินา คือ การร่วมประเวณีนอกสมรส เป็นบาปใหญ่ประการหนึ่งที่อิสลามห้ามเตือนไม่ให้มุสลิมเข้าใกล้การกระทำนี้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่สกปรกและเลวร้ายยิ่ง อัลลอฮได้ตรัสไว้ว่า
“ และพวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณี แท้จริงมันเป็นการลามกและทางอันชั่วช้า “
(อิสเราะฮ :32)
การประเวณีนอกสมรส เป็นความผิดที่รุนแรงอันดับสาม รองมาจากการตังภาคีต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.)และการฆ่าลูกของตน



ลำดับที่ 4 บรรยายให้ความรู้ ผลกระทบจากการติดเชื้อ HIV/AIDS
ระยะเวลา 1 ชั่วโมง
วัตถุประสงค์
1. ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวี
2. ทางออกในการเผชิญกับสถานการณ์การติดเชื้อของตนเอง
3. บทบาทของคนทำงานด้านเอดส์ การช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาจากการติดเชื้อเอชไอวี
อุปกรณ์/สื่อ
1. กรณีศึกษา 4 กรณี
2. แผ่นใส และปากกาเขียนแผ่นใส
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
1. ชี้แจงผู้เข้าร่วมการอบรมว่า กิจกรรมนี้มีกรณีตัวอย่าง 4 เรื่อง ให้ช่วยกัน แลกเปลี่ยนและตอบคำคำถามได้
2. แบ่งผู้เข้าร่วมการอบรมออกเป็น 4 กลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มจะได้รับแจกกรณีตัวอย่างกลุ่มละ 1 เรื่อง สำหรับพูดคุยในกลุ่ม รายละเอียดกรณีตัวอย่าง (แนบท้าย)
3. ให้เวลาแต่ละกลุ่มในการพูดคุย 40 นาที
4. ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลการพูดคุยตามประเด็นในกลุ่มใหญ่
5. ผู้ดำเนินการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมการอบรมคนอื่นๆ แสดงความคิดเห็น และ แลกเปลี่ยนต่อสิ่งที่แต่ละกลุ่มนำเสนอ
6. ผู้ดำเนินการควรซักถามแต่ละกลุ่มเพิ่มเติม ตามประเด็นที่ผู้ดำเนินการเปิดให้มีการแลกเปลี่ยน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
กรณีที่ 1 มีข่าวลือในหมู่บ้านว่าเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยคนหนึ่งติดเชื้อเอดส์
• เหตุผลที่ผู้นำชุมชน ควรเปิดเผยหรือไม่ควรเปิดเผยเรื่องการติดเชื้อเอดส์ของตน ใครอยากให้เปิดเผยหรือไม่เปิดเผย
• การจัดการทั้งในกรณีเปิดเผย และไม่เปิดเผยว่ามีเชื้อเอดส์
• ผลกระทบของการติดเชื้อเอดส์ของผู้นำชุมชน กับการติดเชื้อเอดส์ของชาวบ้านทั่วไปเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
กรณีที่ 2 มีผู้ติดเชื้อเอดส์ในชุมชนมาปรึกษาท่านว่าเขาควรจะบอกแฟนหรือไม่ว่าตนเองติดเชื้อทั้งคู่กำลังเตรียมตัวจะแต่งงาน
• สิทธิเกี่ยวกับผลเลือดเป็นสิทธิของใครที่จะเปิดเผย
• คิดหรือรู้สึกอย่างไรต่อคนที่มารับบริการปรึกษาในเรื่องนี้ ถ้าเขาตั้งใจว่าจะบอกหรือไม่บอกคู่
กรณีที่ 3 ผู้หญิงคนหนึ่งมาตรวจว่าตัวเองตั้งครรภ์หรือไม่ และให้ข้อมูลว่า สามีติดเชื้อเอดส์และกำลังป่วยอยู่ ผลการตรวจพบว่าผู้หญิงคนนั้นตั้งครรภ์ และติดเชื้อเอดส์
• ผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์
• คิดอย่างไรต่อการตั้งครรภ์ต่อการทำแท้ง การคุมกำเนิดของเธอ
กรณีที่ 4 ลูกผู้ติดเชื้อในชุมชนไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ เนื่องจากครูให้เหตุผลว่าอาจทำให้เด็กคนอื่นๆ ติดเชื้อ
• ความกังวลของคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
• สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น
• คิดว่าปัญหานี้จะแก้ไขได้หรือไม่ หรือจะทำอะไรได้บ้าง เป็นบทบาทของใคร
กรณีที่ 5 ผู้หญิงคนหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี แล้วแต่งงานใหม่ ต้องการมีบุตรไว้สืบสกุล
• คิดอย่างไรต่อต่อผู้หญิงคนนี้ที่จะมีบุตร
• ท่านคิดว่า มีใครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง และเกี่ยวอย่างไร
• มีสิทธิที่จะมีบุตรหรือไม่
7. หลังจากที่ทุกกลุ่มนำเสนอและอภิปรายแลกเปลี่ยนกันแล้ว ผู้ดำเนินการชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่สรุปได้ร่วมกัน เช่น
• การเปิดเผยสถานการณ์ติดเชื้อเอดส์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ให้ผลในด้านลบมากกว่าด้านบวก เพราะเกิดผลกระทบกับผู้ติดเชื้อ และคนใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องมาก รวมทั้งสังคมยังไม่ยอมรับ
• ในเรื่องสิทธิที่จะไม่เปิดเผยสถานการติดเชื้อ ทุกคนมีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยสถานการณ์ติดเชื้อของตนเอง การเปิดเผยเป็นเรื่องของความพร้อมซึ่งเจ้าตัวเป็นคนประเมินเองว่า หากบอกไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง
• สิทธิการตั้งครรภ์ หรือยุติการตั้งครรภ์ เป็นสิทธิของแม่ สิ่งที่เจ้าหน้าที่หรือคนทำงานทำได้คือ การให้ข้อมูลที่รอบด้านในเรื่องการตั้งครรภ์ขณะมีเชื้อเอดส์ เพื่อให้แม่เป็นคนตัดสินใจเอง ที่สำคัญเจ้าหน้าที่หรือคนทำงานจะต้องไม่ใช้ทัศนะของตนเองในการโน้มน้าวใจให้ผู้รับบริการตัดสินใจตามสิ่งที่ผู้ให้บริการคิด
8. ข้อมูลสำคัญที่สามารถให้กับหญิงมีครรภ์ที่มีเชื้อเอดส์เพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น
• โอกาสเสี่ยงที่เด็กจะติดเชื้อเอดส์จากมารดามีเพียง 30 %
• หากแม่ได้รับยา AZT ระหว่างตั้งครรภ์ จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อของเด็กลงไปอีก เหลือเพียง 8-10 % ปัจจุบันมีการให้แม่ที่ตั้งครรภ์รับยา Nevirapin ซึ่งช่วยลดอัตราการติดเชื้อลงเหลือเพียง 2 % และแม่ที่เคยได้รับยาต้านไวรัสมาก่อนตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องรับยาซ้ำอีก ก็สามารถลดโอกาสเสี่ยงลงได้
• การลดโอกาสเสี่ยงโดยการงดกินนมแม่ รวมทั้งแนวทางในการทำความเข้าใจกับคนรอบข้างและชุมชนถึงสาเหตุในการให้นมผงแก่ทารก แทนที่จะเป็นนมแม่
• การประเมินความพร้อมของครอบครัวทั้งสองฝ่าย ในการยอมรับสภาพของการรับเชื้อ
• การชวนให้แม่ได้ลองคิดเรื่อง หากเด็กคลอดออกมาใครจะเป็นผู้ดูแล หรือหากแม่หรือพ่อป่วยจะมีใครช่วยดูแลเด็กด้วยหรือไม่ มีการเตรียมการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
• คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง
• แนะนำหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านแม่และเด็ก เช่น สถานที่ให้ยา AZT นมผง การคุมกำเนิดในอนาคต
• หากมีประเด็นในการแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจอื่นๆ ผู้ดำเนินการควรนำมาเสนอด้วย
9. หากมีประเด็นในการแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจอื่นๆ ผู้ดำเนินการควรนำมาเสนอด้วย
10. ผู้ดำเนินการสรุปสิ่งที่ได้จากกิจกรรมวิเคราะห์กรณีตัวอย่าง ดังนี้
• จากการวิเคราะห์กรณีตัวอย่าง ทั้ง 5 กรณี ในฐานะคนนอก สิ่งที่เห็นคือผลกระทบและปัญหาที่ตามมาจากการติดเชื้อเอดส์ และจากการเปิดเผยสถานะการติดเชื้อ ดังนั้น เมื่อย้อนกลับไปประเด็นปัญหาในการทำงาน ประเด็นหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมา คือ “การที่ผู้ติดเชื้อไม่เปิดเผยตัวเอง เป็นปัญหาในการทำงานเอดส์” จากกิจกรรมนี้น่าจะทำให้เข้าใจมากขึ้น ถึงสาเหตุและความยากของการเปิดเผยสถานการณ์ติดเชื้อ และทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักดันให้สังคมมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเอดส์ และสามารถยอมรับและไม่รังเกียจผู้ติดเชื้อ
11. เมื่อวิเคราะห์ปัญหาของการติดเชื้อเอดส์แล้ว พบว่า ผู้ที่เผชิญปัญหาและได้รับ ผลกระทบโดยตรง คือ ผู้ติดเชื้อและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องสุขภาพ สังคม หรือเศรษฐกิจ คำถามคือ ในฐานะเจ้าหน้าที่หรือคนทำงานเอดส์ เราจะช่วยคนที่เผชิญปัญหาโดยตรงได้อย่างไร? ในฐานะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สิ่งที่ทำได้โดยตรง คือ ในด้านสุขภาพ เช่น
• ให้คำแนะนำกับผู้ติดเชื้อ และครอบครัวในเรื่องการปฏิบัติตัว
• การออกเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน (ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงแล้ว ยังเป็นการทำให้ชุมชนเข้าใจโดยไม่ต้องอธิบาย แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ร่วมกันได้)
• การสอนญาติ หรือครอบครัวผู้ป่วยในด้านการดูแล เช่น การทำแผล โดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
• การให้กำลังใจ เป็นต้น (ใช้แผ่นใส 1 ประกอบการอธิบาย)
12. ส่วนสภาพสังคมโดยรวมที่ยังรังเกียจ ไม่ยอมรับ กลัวการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ ตลอดจนเกิดการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง เช่น การไม่ให้ลูกผู้ติดเชื้อเข้าโรงเรียน เป็นต้น เป็นเรื่องที่คนทำงานจะสามารถช่วยผลักดัน และสื่อสารเรื่องเอดส์กับสังคมให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นได้ คำถามที่อาจช่วยเป็นแนวทางให้คนทำงานในการคลี่คลายสถานการณ์ การไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ เช่น คนทำงานจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้

1. คนติดเชื้อจะอยู่ในครอบครัว ชุมชนเดิมของตนเองได้
2. คนในครอบครัวเห็นบทบาทของตนเอง และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเอดส์
3. องค์กรท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมกับการจัดการปัญหาเอดส์ของชุมชน (ใช้แผ่นใส 2 ประกอบการอธิบาย)
13. ผู้ดำเนินการสรุปให้เห็น ตัวอย่างประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์ (แผ่นใส 3)