กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท

โครงการรณรงค์ ควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษา

รายละเอียดโครงการ
รายละเอียดโครงการ
ชื่อโครงการ/กิจกรรม โครงการรณรงค์ ควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษา
รหัสโครงการ 2563 – L8010 – 1 - 05
ชื่อองค์กรที่รับผิดชอบ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง
วันที่อนุมัติ 25 กุมภาพันธ์ 2563
ปี 2563
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 25 กุมภาพันธ์ 2563 - 25 กุมภาพันธ์ 2564
งบประมาณ 48,532.00
ผู้รับผิดชอบโครงการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง
พื้นที่ดำเนินการ ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ประเด็น
แผนงานสิ่งเสพติด , แผนงานเด็ก เยาวชน ครอบครัว
สถานการณ์/หลักการและเหตุผล

ปัญหายาเสพติดของประเทศไทยในปัจจุบันจัดได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีการผลิตยาเสพติดทั้งภายในประเทศ และมีการลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศมากมายหลายชนิด ซึ่งยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดในประเทศไทยยังคงเป็นยาบ้า รองลงมา คือ ไอซ์และกัญชา ตามลําดับ ถึงแม้เจ้าหน้าที่ได้ปราบปรามจับกุมการค้ายาเสพติดอย่างเข้มงวดและจริงจัง แต่ก็ไม่ทำให้การแพร่ระบาดของยาเสพติดลดลง แต่กลับทำให้ผู้ผลิตได้พัฒนายาเสพติดให้ออกฤทธิ์ได้แรงขึ้นและการตรวจพบสารเสพติดในตัวผู้เสพได้ยากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่จับกุมได้ยากยิ่งขึ้นจากสภาพปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หากละเลยไว้จะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมอย่างรุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขได้

สถานการณ์ยาเสพติดจังหวัดสตูล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดสตูล พบว่า ยาบ้ามีการแพร่ระบาดมากที่สุด ร้อยละ 57.34รองลงมาเป็นพืชกระท่อม ร้อยละ 37.41 ,ไอซ์ ร้อยละ 2.15 และกัญชา ร้อยละ 2.05และพบการแพร่ระบาดของยาเสพติดมากที่สุด ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสตูล คิดเป็นร้อยละ 29.79รองลงมาอำเภอละงู ร้อยละ 21.57ซึ่งในเขตพื้นที่อำเภอละงู พบการแพร่ระบาดมากที่สุดคือ ยาบ้า ร้อยละ 64.40 รองลงมาเป็นพืชกระท่อม ร้อยละ 32.47 และไอซ์ ร้อยละ 1.07 ทั้งนี้ข้อมูลจากโรงพยาบาลละงู พบว่าผู้ได้รับการบำบัดจากการใช้สารเสพติดในเขตพื้นที่อำเภอละงู ปี 2560 - 2562 พบว่า มีจำนวน 198ราย , 221 ราย และ 256 ราย ตามลำดับ สำหรับในเขตพื้นที่ตำบลกำแพง พบว่า ผู้ที่ได้รับการบำบัด ปี 2560 - 2562 พบว่า มีจำนวน 38 ราย , 46 ราย และ 60 ราย ตามลำดับ และช่วงอายุผู้เข้ารับการบำบัด ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-24 ปี ร้อยละ 25.30 รองลงมา อายุระหว่าง 25-29 ปี ร้อยละ 17.60 ทั้งนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดและสารเสพติดมากที่สุด คือ กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 52.79 รองลงมา คือ กลุ่มผู้ว่างงาน ร้อยละ 21.56 กลุ่มรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 19.07 และกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 6.58 ตามลำดับและจำนวนผู้เสพรายใหม่วัยเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ปี 2560 - 2562 พบว่า มีจำนวน 14 ราย , 22 ราย และ24 ราย ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวโน้มของผู้เสพรายใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น จึงเห็นสมควรที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งหามาตรการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้บรรลุผลอย่างจริงจัง ทั้งในชุมชนตลอดจนสถานศึกษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด ตลอดจนการเพิ่มมาตรการทางสังคม และหาแนวทางปฏิบัติในเชิงนโยบายของชุมชนหรือการสร้างข้อตกลงร่วมกันในการเฝ้าระวังยาเสพติดของคนในชุมชน

กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ได้เล็งเห็นถึงปัญหายาเสพติดในเขตพื้นที่ตำบลกำแพง ที่นับวันยิ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศเพื่อดำเนินงานการสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันยาเสพติดในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ ควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษา เพื่อสกัดกั้นผู้เสพรายใหม่ในวัยเด็กและเยาวชน และเพื่อลดอัตราการกลับมาเสพซ้ำของผู้ผ่านการบำบัดเมื่อคืนกลับชุมชน

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย
  1. เพื่อสกัดกั้นผู้เสพรายใหม่ในชุมชนและสถานศึกษา
  2. เพื่อลดอัตราการกลับมาเสพซ้ำของผู้ผ่านการบำบัดเมื่อคืนกลับชุมชน
การดำเนินงาน/กิจกรรม
  1. อบรมแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษา
  2. ประชุมชี้แจงผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบงานยาเสพติดของสถานศึกษาในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง
  3. ประชุมแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชน พร้อมสร้างมาตรการและติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด
  4. ประชุมแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติดในสถานศึกษา พร้อมสร้างมาตรการและติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด
  5. รณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
  6. ติดตามดูแล ผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติด ที่ผ่านการบำบัดรักษา
  7. รายงานผลโครงการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
วิธีดำเนินการ

วิธีดำเนินการ (ออกแบบให้ละเอียด)

  1. ขั้นเตรียมการ

  2. เขียนโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง

  3. ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง

  4. ประชาสัมพันธ์โครงการ


  5. ขั้นดำเนินการ

กิจกรรมที่ 1 อบรมแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษา

1) สร้างแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังในชุมชนและสถานศึกษา

2) อบรมแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษา หลักสูตร 1 วัน


กิจกรรมที่ 2 ประชุมแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษา

1) ประชุมชี้แจงผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบงานยาเสพติดของโรงเรียนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง

2) ประชุมแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติด พร้อมสร้างมาตรการและติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด

2.1) ประชุมสร้างมาตรการเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชน จำนวน 12 หมู่บ้าน

2.2) ประชุมสร้างมาตรการเฝ้าระวังยาเสพติดในสถานศึกษา จำนวน 10 แห่ง

2.3) เผยแพร่มาตรการของแต่ละชุมชนและสถานศึกษา

2.4) ประชุมติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในชุมชน จำนวน 12 หมู่บ้าน

2.5) ประชุมติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในสถานศึกษา จำนวน 10 แห่ง

2.6) แกนนำรายงานผลการดำเนินงานเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษา เดือนละ 1 ครั้ง จำนวน 4 เดือน


กิจกรรมที่ 3 รณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

1) จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด


กิจกรรมที่ 4 ติดตามดูแล ผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติด ที่ผ่านการบำบัดรักษา

1) ขอรายชื่อผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติด ที่ผ่านการบำบัดรักษา จากศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอละงู

2) ติดตามดูแลผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติดร่วมกับแกนนำในชุมชน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนให้ความรู้และทักษะชีวิต ระหว่างผู้ติดตามและผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติด จำนวน 2 ครั้ง

3) ตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดในร่างกายของผู้ที่ผ่านการบำบัด หากพบสารเสพติดส่งต่อเข้ารับการบำบัดรักษาแบบสมัครใจ


กิจกรรมที่ 5 รายงานผลโครงการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 2 ครั้ง

1) จัดทำเอกสารนำเสนอโครงการ จำนวน 2 ครั้ง

2) จัดทำรูปเล่มรายงานผลโครงการเมื่อเสร็จโครงการ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
  1. จำนวนผู้ผ่านการบำบัดรายใหม่ลดลง
  2. ชุมชนและสถานศึกษาทุกแห่งมีแกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติด
  3. แกนนำอาสาสมัครและเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและสถานศึกษามีความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น
  4. ชุมชนและสถานศึกษาทุกแห่ง มีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังยาเสพติด
  5. ผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติดได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง
  6. ผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติดไม่กลับไปเสพสารเสพติดซ้ำ