กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท

โครงการนักเรียนท่าแลหลาสดใส ใส่ใจสุขภาพ

รายละเอียดโครงการ
รายละเอียดโครงการ
ชื่อโครงการ/กิจกรรม โครงการนักเรียนท่าแลหลาสดใส ใส่ใจสุขภาพ
รหัสโครงการ 2563 – L8010 – 2 - 06
ชื่อองค์กรที่รับผิดชอบ โรงเรียนบ้านท่าแลหลา
วันที่อนุมัติ 25 กุมภาพันธ์ 2563
ปี 2563
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 25 กุมภาพันธ์ 2563 - 25 กุมภาพันธ์ 2564
งบประมาณ 59,301.00
ผู้รับผิดชอบโครงการ โรงเรียนบ้านท่าแลหลา
พื้นที่ดำเนินการ ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ประเด็น
แผนงานอาหารและโภชนาการ , แผนงานกิจกรรมทางกาย , แผนงานเด็ก เยาวชน ครอบครัว
สถานการณ์/หลักการและเหตุผล

โรงเรียนเป็นสถานที่ที่รวมของประชากรกลุ่มวัยเรียนและเยาวชนซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชน โรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเด็กให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดการจัดการศึกษาต้องยึดหลักที่ว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ เพื่อพัฒนาให้คุณภาพของผู้เรียนดียิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายสุขภาพจิตของผู้เรียน ตลอดจนให้ผู้เรียนรู้จักบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและเฝ้าระวังอันตรายจากการบริโภคอาหาร ทำให้ผู้เรียนมีสุขภาพดี มีภาวะโภชนาการที่สมส่วน ปฏิบัติตามสุขบัญญัติอย่างถูกต้อง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่งผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การมีสุขภาพกายที่ดีสำหรับเด็กถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในปัจจุบันเด็กในวัยเรียนมักจะมีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากเด็กมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม จากการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าแลหลา พบว่า นักเรียนโรงเรียนบ้านท่าแลหลา จำนวน 184 คน เป็นโรคเหา จำนวน 62 คน คิดเป็นร้อยละ 33.69 มีน้ำหนักเกินเกณฑ์และต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน87 คน คิดเป็นร้อยละ 47.28 ฟันผุจำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 17.39 และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จำนวน 72 คน คิดเป็นร้อยละ 39.13 ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคมของเด็กตามมา โรงเรียนบ้านท่าแลหลาเล็งเห็นความสำคัญของนักเรียนในทุกด้านของชีวิต เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาให้เด็กมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

โรงเรียนบ้านท่าแลหลาตระหนักและให้ความสำคัญของการดูแลสุขภาพของนักเรียน จึงได้จัดทำโครงการ “นักเรียนท่าแลหลาสดใส ใส่ใจสุขภาพ” เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลความสะอาดของร่ายกายและศีรษะของตนเอง นักเรียนสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และมีการเจริญเติบโตสมวัยนักเรียนได้เล่นกีฬาและมีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอสามารถนำความรู้และการปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพของตนเองไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย
  1. เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขวิทยา ภาวะทุพโภชนาการ สุขภาพช่องปาก และการออกกำลังกาย
  2. เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพกายและส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพที่เหมาะสม
  3. เพื่อเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน
  4. เพื่อแก้ไขและส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี
  5. เพื่อแก้ไข ส่งเสริม และสนับสนุนการออกกำลังกายของนักเรียน และส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกันของนักเรียน คณะครู ผู้ปกครองและคนในชุมชน
การดำเนินงาน/กิจกรรม
  1. ส่งเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
  2. ส่งเสริมสุขภาพฟันและช่องปาก
  3. สร้างองค์ความรู้เรื่อง “สุขภาพดี อยู่ที่ตัวเรา
  4. เหาหาย สบายหัว ด้วยสมุนไพร
  5. เดิน วิ่ง เพื่อสุขภาพ
  6. รายงานผลโครงการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
วิธีดำเนินการ

วิธีดำเนินการ (ออกแบบให้ละเอียด)

  1. เขียนโครงการเสนองบประมาณต่อคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง

  2. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการนักเรียนท่าแลหลาสดใส ใส่ใจสุขภาพ

  3. คณะกรรมการร่วมกันปรึกษาหารือและวางแผนการปฏิบัติงาน


ขั้นดำเนินการ

กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมสร้างองค์ความรู้เรื่อง “สุขภาพดี อยู่ที่ตัวเรา”

1.1 จัดกิจกรรมในการอบรม ให้ความรู้แก่นักเรียน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ระดับอนุบาล และระดับประถม-มัธยม

  • เรื่องสุขวิทยา เช่น ร่างกาย ผิวหนัง ผม เล็บ เป็นต้น
  • เรื่องการดูแลรักษาความสะอาดบนศีรษะ การกำจัดเหา
  • เรื่องภาวะโภชนาการสำหรับเด็ก คุณประโยชน์ของอาหารแต่ละชนิด
  • เรื่องการดูแลสุขภาพในช่องปากและฟัน
  • เรื่องการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต ได้ง่ายๆโดยการออกกำลังกาย อย่างต่อเนื่อง

1.2 วัดและประเมินผลจากการทำแบบทดสอบ โดยคิดเป็นร้อยละ


กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมเหาหาย สบายหัวด้วยสมุนไพร

    2.1 รณรงค์ให้นักเรียนกำจัดเหา สัปดาห์ละ 1 วัน

    2.2 สอน/สาธิตการทำแชมพูกำจัดเหาด้วยสมุนไพร

    2.3 ครูประจำชั้น และครูผู้รับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียน ดูแล ติดตาม พฤติกรรมการทำความสะอาดของเด็กนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งนักเรียนปลอดเหา


กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค

    3.1 ดำเนินการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงของนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 และอนุบาล 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

    3.2 จัดทำคู่มือเมนูอาหารแต่ละชนิด คุณประโยชน์ของอาหารแต่ละชนิดและโภชนาการสำหรับเด็ก

    3.3 นักเรียนที่มีปัญหาโภชนาการเกินและต่ำ แจ้งผู้ปกครองเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องโดยวิธีการมีส่วนร่วมโดยสหวิชาชีพ

    3.4 ครูประจำชั้น และครูผู้รับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียน ดูแล ติดตามพฤติกรรมการบริโภคของนักเรียน


กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพฟันและช่องปาก

    4.1 ตรวจคัดกรองสุขภาพฟันและช่องปากของนักเรียน

    4.2 รณรงค์ให้นักเรียนแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน

    4.3 ครูประจำชั้น และครูผู้รับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียน ดูแล ติดตาม สุขภาพปากและช่องฟันของนักเรียน เดือนละ 1 ครั้ง


กิจกรรมที่ 5 เดิน วิ่ง เพื่อสุขภาพ

    5.1 รณรงค์การออกกำลังกาย สู่ชุมชนบ้านท่าแลหลา เพื่อให้คนในชุมชนหันมาดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย โดยจะจัดกิจกรรม เดิน วิ่ง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุกวันพุธ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 – 16.00 น. จำนวน 12 สัปดาห์ เส้นทางจากโรงเรียนบ้านท่าแลหลา และหมู่บ้านใกล้เคียง ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าแลหลา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 84 คน คณะครู ผู้ปกครองนักเรียนคนในชุมชนบ้านท่าแลหลาและคนในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งรวมแล้วจำนวน 150 คน

    5.2 จัดกิจกรรมเดิน วิ่ง เพื่อสุขภาพ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนโรงเรียนบ้านท่าแลหลา ผู้ปกครองนักเรียน คนในชุมชนบ้านท่าแลหลา และคนในชุมชนใกล้เคียง มีเจตคติในการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายของตนเองมีสุขภาพที่ดี


ขั้นสรุป

กิจกรรมที่ 6 รายงานผลโครงการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

    6.1 รายงานผล นำเสนอโครงการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 2 ครั้ง

    6.2 จัดทำรายงานผลโครงการเสนอกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น อย่างน้อย 2 เล่ม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
  1. ครูและนักเรียน มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสุขวิทยา ภาวะโภชนาการ สุขภาพในช่องปาก สุขภาพกายและการออกกำลังกาย
  2. นักเรียนได้รับการเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการในเด็กทุกคน
  3. นักเรียนมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี
  4. นักเรียนรู้วิธีการกำจัดเหาและดูแลความสะอาดของร่างกาย
  5. นักเรียน คณะครู ผู้ปกครองนักเรียน และคนในชุมชน ร่วมใจกันออกกำลังกายร่วมกันในชุมชน