กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท

stars
1. รายละเอียดโครงการ
ชื่อโครงการ โครงการหยุดยั้งฟันผุ ด้วยวิธี SMART ร่วมกับซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ในเด็กปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เขตตำบลกำแพง
รหัสโครงการ 2566-L8010-1-01
ประเภทการสนับสนุน ประเภท 1 สนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของ หน่วยบริการ/สถานบริการ/หน่วยงานสาธารณสุข
หน่วยงาน/องค์กร/กลุ่มคน ที่รับผิดชอบโครงการ หน่วยบริการหรือสถานบริการสาธารณสุข เช่น รพ.สต.
ชื่อองค์กรที่รับผิดชอบ ฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลละงู
วันที่อนุมัติ 8 กุมภาพันธ์ 2566
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 มกราคม 2566 - 31 ธันวาคม 2566
กำหนดวันส่งรายงาน 31 ธันวาคม 2566
งบประมาณ 77,455.00 บาท
ผู้รับผิดชอบโครงการ นายปวิตร วณิชชานนท์
พี่เลี้ยงโครงการ
พื้นที่ดำเนินการ ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ละติจูด-ลองจิจูด place
stars
2. ความสอดคล้องกับแผนงาน
แผนงานเด็ก เยาวชน ครอบครัว
stars
3. งวดสำหรับการทำรายงาน
stars
4. กลุ่มเป้าหมาย

(ตามแนบท้ายประกาศคณะอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคฯ พ.ศ. 2557)

กลุ่มเป้าหมายจำนวน(คน)
กลุ่มเป้าหมายจำแนกตามช่วงวัย
กลุ่มเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 255 keyboard_arrow_down

กิจกรรมหลักตามกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน :

กลุ่มเป้าหมายจำแนกกลุ่มเฉพาะ
stars
5. หลักการและเหตุผล/สถานการณ์
สถานการณ์ปัญหาขนาด
1 ร้อยละของเด็กปฐมวัย (อายุ3-5 ปี) ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เขตตำบลกำแพง ที่มีปัญหาฟันผุ
74.25

ความสำคัญของโครงการ สถานการณ์ หลักการและเหตุผล

โรคฟันผุเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่พบมากในเด็ก และยังคงเป็นปัญหาทางทันตสาธารณสุขที่สําคัญของประเทศไทย จากผลการสํารวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 พ.ศ. 2560 พบว่าเด็กไทยอายุ 3 ปี มีความชุกในการเกิดฟันผุ ร้อยละ 52.9 ค่าเฉลี่ยฟันผุถอนอุด (dmft) 2.8 ซี่/คน ซึ่งไม่ได้รับการรักษาคิดเป็นร้อยละ 52.0 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บปวดและการสูญเสียฟันน้ำนม เด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 2.3 มีประสบการณ์การสูญเสียฟันในช่องปาก นอกจากนั้นพบว่าเด็กในเขตภาคใต้มีความจำเป็นต้องได้รับบริการรักษาทางทันตกรรมมากที่สุด จากการสำรวจเด็กทั้งหมดในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงในปี พ.ศ. 2560 - 2564 จำนวน 6 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านควนไสน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปากปิง ศูนย์พํฒนาเด็กเล็กบ้านปิใหญ่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าฝาง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตูแตหรำ พบฟันผุร้อยละ 72.6, 69.2, 53.04, 68.45 และ 74.25 ตามลำดับ เด็กอายุ 3 ปี มีค่าเฉลี่ยฟันผุประมาณ 3.42 ซี่ต่อคน จากข้อมูลดังกล่าวพบว่ามีอุบัติการณ์โรคฟันผุสูง และพบว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการอุดฟันหรือหยุดยั้งฟันผุ ทำให้มีฟันผุลุกลามจนทะลุโพรงประสาทฟัน เกิดอาการปวดทรมาน ทำให้เด็กไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ รับประทานอาหารได้น้อยลง เกิดภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการ การเจริญเติบโตของร่างกายและคุณภาพชีวิตของเด็ก

โรคฟันผุในเด็กเล็กสามารถป้องกันได้ด้วยการแปรงฟันให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอโดยผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก เพื่อลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ แต่เมื่อมีการผุจนสูญเสียแร่ธาตุและเนื้อฟันเป็นโพรงเกิดขึ้นแล้ว การรักษาจึงต้องเป็นการหยุดยั้งเพื่อไม่ให้ผุลุกลามไปสู่โพรงประสาทฟันจนมีอาการปวดได้ ซึ่งแนวทางการรักษาต้องเป็นการเก็บรักษาเนื้อฟันไว้ให้ได้มากที่สุด ควบคุมการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ ก็จะช่วยให้เกิดการหยุดยั้งของรอยโรคโพรงฟันผุได้ เกิดเป็นรอยโรคฟันผุที่หยุดยั้ง (Arrested carious lesion) ซึ่งรอยผุมีลักษณะแข็งขึ้น การรักษาที่มีการเก็บรักษาเนื้อฟันให้ได้มากที่สุด (Non-invasive treatment or minimal invasive treatment) เช่น การใช้ฟลูออไรด์วาร์นิช ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ และบูรณะฟันด้วยวิธี Simplified and Modified Atraumatic Restoration Treatment (SMART) เป็นต้น การอุดฟันโดยวิธี SMART เป็นเทคนิคการอุดฟันที่คิดค้นเพื่อใช้ในการบูรณะฟันในกรณีที่ไม่สามารถจัดบริการรักษาแบบปกติได้ บูรณะด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ มีคุณสมบัติปลดปล่อยฟลูออไรด์ ลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เพิ่มการคืนกลับของแร่ธาตุ ควบคุมการลุกลามและการดำเนินของโรคฟันผุ ป้องกันการเกิดฟันผุซ้ำ ซึ่งประสิทธิผลในการบูรณะด้วยวิธีนี้มีประโยชน์ในการจัดการฟันน้ำนมผุลุกลามรุนแรงในเด็กเล็ก ใช้เครื่องมือพื้นฐานใช้มือ (Hand instrument) ในการอุดฟัน ให้อัตราความสำเร็จในการรักษาสูง การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ของ De Amorim RG และคณะปี ค.ศ. 2012 พบอัตราการคงอยู่ของวัสดุประมาณร้อยละ 93 และ 62 ในการอุดฟันด้านเดียวและหลายด้าน ตามลำดับ และคงอยู่ร้อยละ 86 เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี นอกจากนั้นเด็กที่ได้รับการรักษาวิธีนี้ไม่มีอาการปวดคิดเป็นร้อยละ 93 ประโยชน์ของการอุดฟันด้วยวิธี SMART คือ ค่าใช้จ่ายน้อย เจ็บปวดน้อย ลดความกังวลของเด็ก สามารถเก็บฟันไว้ได้โดยไม่ต้องถอน เป็นการให้บริการทันตกรรมเชิงรุก สามารถดำเนินการในชุมชนได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย และแนะนำให้เลือกใช้ในกิจกรรมทันตสุขภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ดี ซึ่งทางฝ่ายทันตสาธารณสุขได้ให้การรักษาวิธีการนี้แก่เด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงมาแล้วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปีที่ผ่านมา มีเด็กได้รับการรักษาด้วยวิธี SMART คิดเป็นร้อยละ 68.24 ของเด็กที่มีฟันผุ ภายหลังการรักษาเด็กไม่มีอาการปวดฟัน และมีอัตราการยึดติดของวัสดุร้อยละ 89.29 เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ซึ่งให้ผลความสำเร็จค่อนข้างสูง

ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ (SDF) ความเข้นข้นร้อยละ 38 มีความสามารถในการหยุดยั้งฟันผุในชั้นเนื้อฟันได้ดี สารประกอบเงินมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และลดการย่อยสลายของคอลลาเจนในเนื้อฟันร่วมกับการคืนกลับแร่ธาตุโดยฟลูออไรด์ที่ผิวหน้าฟัน เกิดการแข็งตัวของเนื้อฟันในโพรงฟันผุ ลดอาการเสียวฟัน มีรายงานผลการศึกษาการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและ Meta-analysis ปี ค.ศ. 2019 พบว่าประสิทธิภาพการใช้ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ ในการยับยั้งฟันผุในชั้นเนื้อฟันของฟันน้ำนมสูงถึงร้อยละ 81 และ 89 ข้อดีคือ ใช้งานง่าย สะดวก ไม่แพง ปลอดภัย ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน ไม่ต้องกรอฟันให้เกิดเสียงที่ทำให้เด็กกลัว ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง และไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะรักษาโดยเฉพาะในเด็ก จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการป้องกันและหยุดยั้งฟันผุในเด็กเล็กที่มีข้อจำกัด หรือให้ความร่วมมือในการรักษาทางทันตกรรมน้อย แต่มีข้อคำนึงถึงประการหนึ่งคือ หลังการใช้ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ในการหยุดยั้งฟันผุลุกลามได้มีประสิทธิภาพนั้น จะมีการเปลี่ยนรอยผุบริเวณนั้นเป็นสีดำอย่างถาวร แต่อย่างไรก็ตาม สีดำที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะคล้ายรอยผุหยุดยั้งตามธรรมชาติ การให้บริการทางทันตกรรมในระดับชุมชน จำเป็นต้องให้การรักษาเพื่อควบคุมการลุกลามของรอยโรคฟันผุ (Caries control) ในเวลา ค่าใช้จ่าย และทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่อย่างจำกัด ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์เป็นทางเลือกหนึ่งที่แนะนำในงานทันตสาธารณสุขชุมชน ในกลุ่มประชากรเด็กที่มีความเสี่ยงฟันผุสูง สำหรับในประเทศไทยมีแนวทางการใช้ฟลูออไรด์โดยทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2560 ได้มีการแนะนำให้ใช้ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ที่รอยผุอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จนกว่ารอยโรคจะหยุดผุ หรือเมื่อได้รับการบูรณะหรือฟันน้ำนมหลุดเองตามธรรมชาติ ซึ่งยังไม่มีการใช้มาก่อนในระดับชุมชนของพื้นที่อำเภอละงู ดังนั้น กลุ่มงานทันตสาธารณสุขโรงพยาบาลละงู จึงได้จัดทำโครงการหยุดยั้งฟันผุด้วยวิธี SMART ร่วมกับซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ในเด็กปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเขตตำบลกำแพง ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการฟันดี ยิ้มสวย เคี้ยวอร่อย ด้วยวิธี SMART ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการลุกลามของโรคฟันผุ ป้องกันการเกิดฟันผุซ้ำ และเป็นการดูแลรักษาอนามัยในช่องปากให้กับเด็กเล็กต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมมากขึ้น

stars
6. วัตถุประสงค์/เป้าหมาย
วัตถุประสงค์/ตัวชี้วัดความสำเร็จขนาดปัญหาเป้าหมาย 1 ปี
1 เพื่อฟื้นฟูให้ความรู้และเพิ่มทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีแก่ผู้ปกครองเด็กและครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ร้อยละ 80 ของผู้ปกครองเด็กและครูผู้ดูแลเด็กมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กเล็กเพิ่มขึ้น

80.00
2 เพื่อให้เด็กปฐมวัย เข้าถึงบริการทางทันตกรรมและได้รับการบูรณะฟันน้ำนมเพิ่มขึ้น

เด็กปฐมวัยในศพด. เขตตำบลกำแพง เข้าถึงบริการทางทันตกรรม ได้รับการตรวจฟัน การหยุดยั้งฟันน้ำนมผุและบูรณะฟันน้ำนมอย่างน้อยร้อยละ 90

90.00
3 เพื่อลดการผุลุกลามและหยุดยั้งฟันน้ำนมผุในเด็กปฐมวัย

ลดการสูญเสียฟันน้ำนม ลดอาการปวดฟันและลดการผุซ้ำในฟันกรามน้ำนมที่ได้รับการรักษาไปอย่างน้อยร้อยละ 60

60.00
stars
7. การดำเนินงาน/กิจกรรม
hourglass_emptyไม่มีกลุ่มกิจกรรม กลุ่มเป้าหมาย
(คน)
งบกิจกรรม
(บาท)
ทำแล้ว
 
ใช้จ่ายแล้ว
(บาท)
วันที่ กิจกรรม 0 77,455.00 4 76,215.00
2 - 10 มี.ค. 66 กิจกรรมด้านการส่งเสริมป้องกัน 0 40,690.00 42,500.00
1 - 30 เม.ย. 66 กิจกรรมด้านการรักษา/ฟื้นฟู 0 35,255.00 32,205.00
1 - 31 ก.ค. 66 กิจกรรมติดตามผลการดำเนินงาน 0 510.00 510.00
1 ส.ค. 66 - 30 ก.ย. 66 รายงานผลโครงการ 0 1,000.00 1,000.00

 

stars
8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1) ผู้ปกครองเด็กและครูผู้ดูแลเด็กมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กเล็กเพิ่มขึ้น 2) เด็กปฐมวัย ในศพด. เขตตำบลกำแพง เข้าถึงบริการทางทันตกรรม ได้รับการตรวจฟัน การหยุดยั้งฟันน้ำนมผุและบูรณะฟันน้ำนมเพิ่มขึ้น 3) ลดการสูญเสียฟันน้ำนม ลดอาการปวดฟันและลดการผุซ้ำในฟันกรามน้ำนมที่ได้รับการรักษาไป 4) ผู้ปกครองพึงพอใจต่อการบูรณะฟันด้วยวิธี SMART และหยุดยั้งฟันผุด้วยซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ในเด็กเล็ก

stars
9. เอกสารประกอบโครงการ

โครงการเข้าสู่ระบบเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 10:48 น.