กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท

การดำเนินโครงการ covid-19 รายเขต

by twoseadj @28 เม.ย. 63 10:56 ( IP : 171...229 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 529x564 pixel , 91,980 bytes.

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ทาง สปสช.และสำนักตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดชี้แจงผ่าน facebooklive  เรื่อง แนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนสุขภาพตำบลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการระบาดของ โควิด-19

ผู้ว่าการ สตง.ชี้การใช้จ่ายงบกองทุนสุขภาพระดับตำบลในภาวะเร่งด่วนวิกฤตโควิด-19 อาจมีข้อผิดพลาดบกพร่องไปบ้าง แต่ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์แล้วไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ย้ำหากสงสัยการใช้จ่ายงบประมาณสามารถสอบถาม สตง.ได้และมีผลคุ้มครองตามกฎหมาย ด้าน สธ.เตรียมเสนอแผนเปลี่ยนผ่านกึ่งล็อกดาวน์ให้สังคมไทยอยู่กับโควิด-19 ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ "การใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นอย่างไรเพื่อช่วยต้านภัยโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ" เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 โดยมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ร่วมอภิปราย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เป็นเวลา 3 เดือนครึ่งแล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โชคดีที่ไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปจนถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยพฤติกรรมทางสังคมมาเกี่ยวข้อง ประเทศไทยมี 7,500 ตำบล และไทยมีระบบสุขภาพชุมชน ถ้าพื้นที่เหล่านี้เข้มแข็งก็ควบคุมป้องกันโรคได้

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า งบประมาณที่หมุนเวียนในกองทุนสุขภาพระดับตำบลมีปีละ 3,800 ล้านบาท ขณะนี้มีกว่า 4,000 ตำบลที่ใช้งบประมาณเกี่ยวกับโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 600 ล้านบาทในเรื่องสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพ การป้องกัน หาเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากาก และการเฝ้าระวังในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้มาจากต่างจังหวัดหรือพื้นที่เสี่ยง

"โควิด-19 คงอยู่กับเราไปอีกนาน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจต้องเดินหน้า กิจกรรมต่างๆ ที่จะกลับมาดำเนินการจะทำอย่างไร เรื่องเหล่านี้ต้องมีคำตอบที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามหาแนวทาง แต่คนปฏิบัติคือท้องถิ่น ถ้า 7,500 ตำบลขับเคลื่อนตามทิศทางของ สธ. และรัฐบาล ปัญหาต่างๆ จะเกิดน้อยลงและทำให้ดำรงชีวิตในสังคมร่วมกันได้" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ด้าน นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวถึงการใช้งบกองทุนสุขภาพในระดับตำบล ของเทศบาลนครรังสิตในเรื่องการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ว่า เทศบาลนครรังสิตใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลใน 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.กิจกรรมที่มีผลกระทบกับประชนในเชิงพื้นที่ 2.กิจกรรมสนับสนุนเครื่องมือและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติที่เป็นอาสาสมัคร และ 3.สนับสนุนเครื่องมือและองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ โดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท โดยช่วงแรกอนุมัติผ่านคณะกรรมการ แต่ต่อมาใช้อำนาจประธานกองทุนอนุมัติโครงการวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ทำให้การดำเนินงานคล่องตัวมากขึ้น

นายธีรวุฒิ กล่าวว่า การดำเนินงานในช่วงแรก ได้พัฒนาการสอนวิธีทำหน้ากากโดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขอรับเงินไปดำเนินงาน ต่อมาคือการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เฝ้าระวังในเชิงพื้นที่ จัดหาน้ำยาฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์เพื่อส่งมอบให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนใช้ และเมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงปัจจุบันก็มีการขับเคลื่อนเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ก็ได้นำองค์ความรู้และอุปกรณ์ป้องกันไปให้ รวมทั้งกลุ่มอาชีพผู้ให้บริการ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ ผู้ประกอบการรถตู้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็ต้องสร้างมาตรฐาน ให้ความรู้และให้อุปกรณ์ในการป้องกันตัวเช่นกัน และระยะต่อไปเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ก็ได้เตรียมรับข้อมูลองค์ความรู้จาก สธ. และแนวปฏิบัติของรัฐเพื่อส่งต่อไปยังอาชีพต่างๆ เช่น ถ้าผ่อนคลายเรื่องร้านตัดผม จะเตรียมส่งต่อองค์ความรู้และแนวปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น

นายธีรวุฒิ ยังให้คำแนะนำด้วยว่า ในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่อนุมัติงบประมาณไปตั้งแต่ต้นปีแล้วไม่เหลืองบประมาณมาใช้ในช่วงการระบาดนี้ จริงๆ แล้วเป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุนในการพิจารณา หน่วยงานที่ทำโครงการสามารถขออนุมัติเปลี่ยนแปลงโครงการได้ ยิ่งกรณีนี้เป็นโรคระบาด เป็นมิติเรื่องการป้องกันซึ่งก็เป็นอำนาจของกองทุนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าภาคีจะหารือว่าโครงการที่อนุมัติแล้วจะปรับอย่างไร